นักวิทย์ตอบคำถาม ในทางวิทยาศาสตร์เราควร “ถอดรองเท้า” ในบ้านหรือไม่?

สำหรับคนไทยแล้วการถอดรองเท้าในบ้านหรือในอาคารอาจจะเป็นภาพที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงรู้ว่ามีชาวตะวันตกจำนวนมากเช่นกันที่จะไม่ถอดรองเท้าในอาคารหรือบ้าน

ถ้าอย่างนั้น ในทางวิทยาศาสตร์แล้วเราควรถอดรองเท้าในบ้านรึเปล่านะ?

 

 

เหตุผลหลักๆ ที่คนเราถอดรองเท้าในบ้านมาจากความคิดที่ว่ารองเท้านั้นสกปรก ซึ่งอาจนำมาซึ่งเชื้อแบคทีเรียไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องพอสมควรเลย

เนื่องจากทุกๆ 1 ตารางนิ้วของรองเท้าสามารถมีแบคทีเรียได้เป็นแสนๆ ตัว และไม่ว่าเราจะเดินไปที่ไหนก็ตาม รองเท้าของเราก็จะมีแบคทีเรียติดกลับมาได้แทบทั้งนั้น

 

 

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ ในรองเท้ากว่า 96% จะมีแบคทีเรียที่ชื่อว่า “Escherichia coli” หรือเชื้ออีโคไล ซึ่งแม้ว่าหลายๆ ชนิดจะไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ (บางตัวก็ช่วยในการย่อยอาหารด้วยซ้ำ) แต่บางชนิดก็สามารถทำให้เราป่วยได้เหมือนกัน

เท่านั้นยังไม่พอเพราะบนรองเท้าบางส่วนยังมีแบคทีเรีย Staphylococcus aureus อยู่ด้วย ซึ่งอาจจะนำไปสู่อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้ในบางกรณี

 

แบคทีเรีย Staphylococcus aureus มีชื่อแปลว่า “องุ่นสีทอง”

 

ถึงอย่างนั้นก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่แนะนำให้เราหวาดกลัวกับการที่ถูกคนเผลอใส่รองเท้าเข้าบ้านมากจนเกินไป

เพราะแม้แบคทีเรียที่กล่าวมาอาจจะฟังดูน่ากลัว แต่โดยปกติแล้ว แบคทีเรียเหล่านี้จะไม่เป็นพิษภัยต่อคนที่ร่างกายแข็งแรง กลับกันแบคทีเรียที่ดีบางตัวยังสามารถช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

ดังนั้นหากจะให้สรุป นักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่าคนเรา “ควรจะถอดรองเท้า” หากในบ้านมีคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเด็กเล็ก ส่วนบ้านของคนธรรมดาทั่วไป จะถอดรองเท้าหรือไม่ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันขนาดนั้น

 

 

แต่ถ้าหากใครที่ต้องการจะลดปริมาณแบคทีเรียในบ้านลง นักวิทยาศาสตร์ก็แนะนำว่า นอกจากการถอดรองเท้าแล้วเรายังสามารถทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่นซึ่งเป็นอาหารโปรดของแบคทีเรียได้ด้วย

 

ที่มา livescience


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply