งานวิจัยใหม่บอก เราอาจพบสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารได้ ด้วยการมองหาหินรูป “เส้นหมี่ขาว”

เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลก เชื่อว่าคงมีหลายคนไม่น้อยที่นึกถึงซีโนมอร์ฟตัวดำน่ากลัว หรือไม่ก็พรีเดเตอร์ออกมาเป็นสิ่งแรกๆ ด้วยอิทธิพลจากสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน ว่าแต่เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมว่าสำหรับเหล่าผู้เชี่ยวชาญแล้ว เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลกพวกเขาจะนึกถึงอะไรกัน

นั่นเพราะอ้างอิงจากการวิจัยใหม่ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางนาซา ดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเราควรจะมองหากันมากที่สุดเมื่อตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกอย่างเช่นบนดาวอังคาร แท้จริงแล้วจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายซีโนมอร์ฟ หรือ E.T. ด้วยซ้ำ แต่เป็นเส้นสีขาวๆ คล้าย “พาสต้า” หรือ “หมี่ขาว” ต่างหาก

 

เส้นสีขาวคล้ายพาสต้าที่อาจช่วยพวกเราในการตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

 

โดยนี่เป็นข้อสันนิษฐานที่เกิดขึ้นโดยทีมนักวิจัยที่นำทีมโดยคุณ Bruce Fouke นักธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ผู้ซึ่งได้พาลูกทีมไปศึกษาลักษณะของแบคทีเรียในชั้นหินที่บ่อน้ำพุร้อนแมมมอธ ในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน

ที่นั่น พวกเขาได้พบว่าในชั้นหินเก่าแก่ของบ่อน้ำพุร้อนที่มีความเป็นกรด แถมยังมีอุณหภูมิสูงเฉลี่ยถึง 56-72 องศานั้น ยังมีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่สามารถอาศัยอยู่ได้ แถมยังมีปริมาณมากถึง 98% ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กทั้งหมดในน้ำเลยด้วย

สิ่งมีชีวิตที่ว่านั้นคือ “Sulfurihydrogenibium yellowstonense” หรือ “Sulfuri” สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เชื่อกันว่ามีการวัฒนาการมาตั้งแต่เมื่อ 2,500 ล้านปีก่อน ยุคที่โลกของเรายังแทบไม่มีออกซิเจน และมีลักษณะคล้ายดาวอังคารในอดีตเป็นอย่างมาก

 

Sulfurihydrogenibium yellowstonense ไม่เพียงแต่เอาชีวิตรอดในสภาวะที่เลวร้ายได้เท่านั้น แต่มันยังวิวัฒนาการมาจากสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับดาวอังคารในอดีตอีกด้วย

 

เรื่องที่น่าสนใจของ Sulfuri ที่ถูกพบที่เยลโลว์สโตนนั้น คือพวกมันมีการเอาชีวิตรอดจากภาวะสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายด้วยการเกาะตัวอยู่กับตัวอื่นๆ นับล้าน จนเกิดเป็นเส้นหินปูนขาวๆ ขนาดเล็ก ซึ่งทำจากแคลเซียมคาร์บอเนตขึ้นมา

ด้วยความสามารถเอาชีวิตรอดที่ Sulfuri มีต่อสภาพแวดล้อมคล้ายดาวอังคารนี่เอง ที่ทำให้ทีมนักวิจัยเชื่อว่าถ้าจะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารจริงๆ พวกมันก็คงไม่พ้นที่จะมีการใช้ชีวิตคล้าย Sulfuri แน่ๆ และแน่นอนว่าหากพวกมันมีลักษณะคล้าย Sulfuri จริงๆ มันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่สิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารจะสร้างหินปูนขึ้นมาเหมือนกันด้วย

 

Sulfuri มีลักษณะเด่นคือจะสร้างเส้นสีขาว ซึ่งทำจากแคลเซียมคาร์บอเนตขึ้นมาได้

 

ดังนั้นแล้ว พวกเขาจึงสรุปว่าสิ่งที่จะช่วยให้เราตามหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารได้ดีที่สุด ก็คงไม่พ้นเส้นขาวๆ ขนาดเล็กแบบที่พบได้ในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนนั่นเอง

อนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Astrobiology เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2019  ดังนั้นหากเพื่อนๆ สนใจอยากทราบรายระเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อนก็สามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยตัวเต็มกันได้ ที่นี่

 

ที่มา eurasiareview, livescience และ natureworldnews

Comments

Leave a Reply